ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้

Monday, March 1, 2010

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาการ Admission ปี53

Slide เหล่านี้สำหรับเผยแพร่นะครับ เพื่อให้คนเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการอ่านจากจดหมายเปิดผนึกเอาไปแชร์ที่ไหนก็เอาไปเลยครับ
โพสต์ไว้ที่ไหนก็เอามา comment ไว้ข้างล่างนะครับคนจะได้ตามไปอ่านได้
  • ดาวน์โหลดแบบ pdf

  • ดาวน์โหลดแบบ jpeg 16 ไฟล์ zip ไว้เอาไว้โพสต์ตามเว็บบอร์ด

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ

ถ้าท่านอ่านจบแล้วเห็นด้วยกับจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ โปรดลงชื่อนามสกุลจริงเป็น ภาษาไทย อาจจะมีตำแหน่งหรือที่เรียนหรืออาชีพต่อท้าย(ไม่จำเป็น) ไว้ที่ Comment นะครับ เน้นนะครับว่าชื่อเท่านั้น ชื่อพร้อมความเห็นก็ไม่เอานะครับ เราก็จะลบความเห็นทิ้ง โปรดเห็นใจคนรวบรวมชื่อนะครับ ถ้ามีความเห็นอื่นโปรดใส่ไว้ที่นี่ ครับ ถ้าอ่านแล้วรู้สึกเข้าใจยากดูการ์ตูนแทนก็ได้ครับ จดหมายฉบับนี้พวกเราตั้งใจให้เป็นจดหมายจากพี่ ๆ เพื่อช่วยน้อง ๆ และน้อง ๆ ก็สนับสนุนได้ ไม่ใช่แค่จดหมายจากนักเรียนนอกเท่านั้นพวกเราอยากให้ทุกคนทุกแบบไม่ว่าจะอยู่เมืองไทย อยู่เมืองนอก อยู่กรุงเทพ อยู่ต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเอ็นตอนปีไหน เอ็นอยู่ หรือยังไม่ได้เอ็น โปรดช่วยกันสนับสนุนนะครับ

วันที่ 1 มีนาคม 2553
เรียน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
สำเนาเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายกรัฐมนตรี
เรื่อง ปัญหาการจัดสอบและการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ตามที่พวกเราในฐานะผู้ที่ห่วงใยต่ออนาคตการศึกษาไทย ได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานข้อสอบและวิธีการจัดสอบ Ordinary National Educational Test (O-net) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบวัดผลเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง โดยมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ควบคุมระบบการออกข้อสอบและการจัดสอบ พวกเราได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และทำการวิเคราะห์ระบบการสอบรูปแบบใหม่นี้ ทั้งนี้พวกเราตระหนักดีถึงวัตถุประสงค์ของสทศ. อย่างไรก็ดี การสอบระบบใหม่ที่นำมาใช้กับการสอบในปีนี้ ก่อให้เกิดผลเสียต่อนักเรียนทั้งผู้เข้าทดสอบในปีนี้และปีก่อนหน้านี้ ดังต่อไปนี้

1) เนื้อหาข้อสอบกำกวมและก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

1.1) ข้อสอบบางข้อในบางรายวิชา เช่น สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ไม่มีหลักเกณฑ์การหาคำตอบที่ถูกที่สุดอย่างแน่ชัด และคำตอบที่ถูกมีความเป็นไปได้หลากหลายขึ้นกับประสบการณ์และทัศนคติของผู้ตอบ เช่น สีใดใช้แทนความรัก หรือการให้นักเรียนเลือกสีผ้าปูโต๊ะให้แม่ซึ่งเกิดวันศุกร์ เป็นต้น ประกอบกับข้อสอบที่เป็นแบบปรนัย ทำให้ผู้ตอบไม่สามารถให้เหตุผลประกอบคำตอบได้ จึงอาจทำให้เสียโอกาสในการได้คะแนนในข้อนั้นๆ

1.2) หลักสูตรการสอนของโรงเรียนมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลศึกษา ศิลปศึกษา และ การงานอาชีพและเทคโนโลยี เช่น
จากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2551 ในสาระที่ 3 มาตรา พ. 3.2 ตัวชี้วัดที่ 2 ที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาพลศึกษา ได้กำหนดไว้ว่า นักเรียนควรสามารถ “อธิบายและปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิ กฏ กติกา กลวิธีต่าง ๆ ในระหว่างการเล่น การแข่งขันกีฬากับผู้อื่น และนำไปสรุปเป็นแนวปฏิบัติใช้ชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง” ทั้งนี้ หลักสูตรมิได้ระบุประเภทของกีฬาที่ครอบคลุมไว้ และทางโรงเรียนไม่สามารถจัดสอนเนื้อหาให้ครอบคลุมทุกประเภทกีฬาได้ จึงทำการสอนในประเภทกีฬาที่เหมาะสมที่นักเรียนจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนี่อง โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและความพร้อมของโรงเรียน ดังนั้น ข้อสอบที่เกี่ยวเนื่องกับรายละเอียดของชนิดกีฬาที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในทุกโรงเรืยน จะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงเรียนที่มีการสอนและไม่มีการสอนกีฬานั้น ๆ เช่นข้อที่เกี่ยวกับเทนนิส บัลเลต์ และข้อสอบบางข้อในรายวิชาอื่น เป็นต้น

2) การเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการเปรียบเทียบ

พวกเราได้ตระหนักดีและเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของสทศ.ที่ต้องการให้คะแนนที่นักเรียนได้สะท้อนถึงความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบโดยเพิ่มจำนวนตัวเลือก อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนนั้นทำให้ค่าคาดหวัง (Expected Value) ของคะแนนที่จะได้จากรูปแบบการสอบใหม่ แตกต่างออกไปจากแบบเก่า ตัวอย่างเช่น ในวิชาสังคมศึกษา ระบบข้อสอบได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก การเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดจากสี่ตัวเลือกในแต่ละคำถาม เป็นเลือกคำตอบที่ถูกทั้งหมดจากสี่ตัวเลือก และต้องตอบให้ถูกต้องทั้งหมดจึงจะได้รับคะแนนในข้อนั้นๆ ทำให้ความน่าจะเป็นในการเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากการเดาสุ่มลดลงจาก 1 ใน 4 เหลือเพียง 1 ใน 11 ในแต่ละคำถาม ยังผลให้นักเรียนที่รับการทดสอบในต่างปีมีโอกาสได้รับคะแนนที่ต่างกันแม้จะมีความรู้ความสามารถที่เท่ากัน ดังนั้น การเปรียบเทียบคะแนนสอบของนักเรียนที่รับการทดสอบในปีที่ต่างกันในส่วนนี้โดยตรงจึงเป็นการไม่ยุติธรรม

3) รูปแบบการจัดสอบที่ให้สอบได้เพียงครั้งเดียวทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและไม่ให้โอกาสครั้งที่สอง

ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้โดยสทศ. การสอบ O-net มีไว้เพื่อการวัดมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียน เพื่อปรับมาตรฐานของแต่ละโรงเรียนให้เท่าเทียมกัน และปรับลดข้อได้เปรียบเสียเปรียบของนักเรียนที่มาจากต่างโรงเรียนในส่วนของเกรดเฉลี่ยสะสม มิใช่สำหรับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สทศ.จึงกำหนดให้นักเรียนมีโอกาสสอบ O-net ได้เพียงคนละ 1 ครั้ง ในช่วงปลายของมัธยมศึกษาปีที่หก อย่างไรก็ดี คะแนนที่นักเรียนได้รับจากการสอบในส่วนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคะแนนที่นำมาใช้ตัดสินในการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หาใช่เพื่อวัดระดับความสามารถโดยรวมของแต่ละโรงเรียนอย่างเดียวไม่ จึงก่อให้เกิดปัญหา ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

3.1) รายวิชาที่มีการจัดสอบเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ยังผลให้เกิดความไม่ยุติธรรมของการคิดคะแนนรวมของนักเรียน ที่รับการทดสอบในปี2549-2550 ซึ่งไม่มีการจัดสอบในรายวิชาที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับคะแนนสูงสุดในส่วนนี้เพียงร้อยละ 25 เทียบกับนักเรียนที่ได้รับการทดสอบในปีอื่น ๆ ที่มีโอกาสได้รับคะแนนสูงสุดในส่วนนี้ร้อยละ 30 และเนื่องจากสทศ.ไม่จัดการทดสอบเพิ่มเติมให้นักเรียนกลุ่มนี้จึงทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น

3.2) นักเรียนบางกลุ่ม อาจจะขาดความพร้อมในขณะเข้ารับการสอบด้วยเหตุผลบางประการ หรือ ค้นพบหลังเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาว่าเลือกสาขาวิชาได้ไม่เหมาะสมกับตนเอง จึงมีความประสงค์ที่จะยื่นคะแนนเพื่อรับการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้งในปีถัดมา แต่ระบบการสอบที่ให้โอกาสในการเข้ารับการทดสอบได้เพียงหนึ่งครั้งนั้น ทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเองเพื่อเข้ารับการศึกษาในสาขาวิชาที่ตนเองต้องการได้แม้จะมีความมุมานะพยายามเพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางสาขาวิชา เช่น แพทยศาสตร์ ที่ระบุคะแนนขั้นต่ำที่ใช้ในการรับพิจารณาไว้อย่างชัดเจน

พวกเราจึงอยากเรียนขอให้ทาง สทศ.ร่วมมือกับคณาจารย์จากแต่ละโรงเรียน และ มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักเรียนผู้ได้รับผลกระทบเพื่อดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และหามาตรการป้องกันปัญหาในอนาคตเพื่อการพัฒนาอันยั่งยืนของระบบการศึกษาไทยต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการต่อไปจักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ

*** แก้ไขวันที่ 2 มีนาคม 2553 11:09pm PST น้องรักเหมียวจ้าท้วงมาว่าสังคมต้องเลือกมากกว่าหนึ่งข้อ ความน่าจะเป็นจึงควรเป็น 1/11 ขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ***
*** แก้ไขวันที่ 4 มีนาคม 2553 6:08pm PST เพิ่มส่งถึงประธานที่ประชุมอธการบดีแห่งประเทศไทย ***

ร่วมเสนอทางออกที่นี่ครับ

อาจจะสังเกตได้ว่า ในจดหมายเปิดผนึกนั้นพวกเราไม่ได้มีการเสนอทางแก้ไขปัญหาที่ได้กล่าวมาเลย เหตุผลที่พวกเราไม่ได้เสนอทางแก้ไปในจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

  • เนื่องจากพวกเราไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง พวกเราคิดว่าการไปคิดแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเสนอให้ สทศ. ทำอย่างที่เราต้องการนั้นไม่เป็นการสมควร เพราะอาจจะมองในมุมที่ต่างกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

  • แน่นอนครับเราได้มีการคิดถึงการวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และวิธีการป้องกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราเชื่อว่าไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นด้วยกับวิธีทางแก้ปัญหาที่เราเสนอได้ แต่เราเชื่อว่าทุกคนตระหนักดีว่ามันมีปัญหาที่สทศ.ไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา จุดประสงค์การเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้คือ การดึงให้นักเรียน ครู และมหาวิทยาลัยกลับไปอยู่บนโต๊ะเจรจากับสทศ. ให้สทศ.รับฟังเสียงรอบข้างเพื่อการตัดสินใจที่รอบคอบเพื่อหาทางแก้ไขที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย และทางป้องกันที่ดี


เพราะฉะนั้นพวกเราอยากให้ทุกท่านใช้พื้นที่ comment นี้เพื่อร่วมเสนอแนวทางแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก และขอความกรุณาทุกท่านโปรดใช้คำสุภาพ